วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

หอยในทะเลไทย

หอยในทะเลไทย

     ทะเลไทย มีอาณาบริเวณที่อยู่ในเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดีย ต่อเนื่องกันกับมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ มากกว่าทะเลในเขตอื่นๆ จึงมีความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิด รวมถึงสัตว์จำพวกหอย หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ ์แสดงว่า หอยเกิดมาในโลก ตั้งแต่ยุคแคมเบรียน หรือเมื่อประมาณ ๕๕๐ ล้านปีมาแล้ว ทั้งเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยาวนาน มาจนถึงปัจจุบัน หอยส่วนใหญ่อาศัยในทะเล มีเพียงส่วนน้อย ที่อาศัยในแหล่งน้ำจืดและบนบก ปัจจุบันประมาณว่า สัตว์จำพวกหอยมีไม่น้อยกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ชนิด มีจำนวนชนิดมากเป็นอันดับที่ ๒ รองจากแมลง




     หอยเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) คำว่า Mollusc มาจากภาษาละติน Mollis มีความหมายว่า "เนื้อนุ่ม" ซึ่งเป็นลักษณะเด่น ของสัตว์จำพวกหอย สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งเป็น ๗ ชั้น (Class) ได้แก่ หอยคล้ายหนอน (Class Aplacophora) หอยฝาชีโบราณ (Class Monoplacophora) ลิ่นทะเล หรือหอยแปดเกล็ด (Class Polyplacophora) หอยกาบเดี่ยวและทาก (Class Gastropoda) หอยกาบคู่ (Class Bivalvia) หอยงาช้าง (Class Scaphopoda) หอยงวงช้างมุก หอยงวงช้างกระดาษและหมึก (Class Cephalopoda) หอยใน ๒ ชั้นแรก มีอยู่เป็นจำนวนน้อยทั้งชนิดและปริมาณ ไม่มีรายงานว่า พบในทะเลไทย การที่นักวิทยาศาสตร์จัดสัตว์เหล่านี้ ไว้ในไฟลัมเดียวกัน เนื่องจากมีรูปแบบพื้นฐานของระบบอวัยวะ เป็นแบบเดียวกัน รวมถึงการเจริญเติบโตของตัวอ่อน มีพัฒนาการในสายเดียวกัน พบว่า มีสัตว์หลายชนิดที่เรียกกันว่าหอย เช่น หอยเม่น หอยปากเป็ด แต่มีรูปแบบของระบบอวัยวะ และพัฒนาการของตัวอ่อนที่แตกต่างออกไป สัตว์ดังกล่าว จึงไม่ใช่สัตว์จำพวกหอย


ลักษณะของหอยทะเล



     หอยทะเลส่วนใหญ่มีเปลือกหุ้มตัว พวกที่ไม่มีเปลือกจะถูกเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ทากทะเล หมึก ทากทะเลเป็นกลุ่มของหอยกาบเดี่ยวที่เปลือกลดรูปไป ส่วนหมึกนอกจากไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัวแล้ว ยังมีรูปลักษณะที่แตกต่างไป และจะไม่กล่าวถึงในที่นี้


ลักษณะเปลือกหอยชนิดต่างๆ

ลักษณะเปลือกหอยชนิดต่างๆ


ลักษณะเปลือก  


    หอยทะเลสามารถสร้างเปลือกได้อย่างน่าพิศวง มีรูปทรงที่หลากหลาย มีสีและลายสวยงาม และมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย ไปจนถึงขนาดที่มีความยาวเปลือกมากกว่า ๑ เมตร ตามแต่ชนิดของหอย เหตุที่หอยสร้างเปลือก ก็เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันภัยจากศัตรู และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เปลือกหอยประกอบด้วย สารจำพวกแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นสารอื่นๆ เช่น แคลเซียมฟอสเฟต แมกนีเซียมฟอสเฟต โปรตีนประเภทคอนไคโอลิน เปลือกหอยแบ่งเป็น ๓ ชั้น ชั้นผิวนอกเรียกว่า ชั้นเพอริออสทราคัม (periostracum) ประกอบด้วย สารจำพวกโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ เป็นชั้นที่บางและหลุดง่าย หอยที่ตายแล้วและเปลือกตกค้างอยู่ตามชายหาด เปลือกชั้นนี้อาจหลุดหายไป จนไม่เหลือให้เห็น ชั้นกลางเรียกว่า ชั้นพริสมาติก (prismatic) เป็นชั้นที่หนาและแข็งแรงที่สุด ประกอบด้วย ผลึกรูปต่างๆ ของสารประกอบแคลเซียมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของแคลไซต์ (calcite) ชั้นในสุด เรียกว่า ชั้นมุก หรือชั้นเนเครียส (nacreous) ประกอบด้วยผลึกรูปต่างๆ ของสารประกอบแคลเซียม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของอะราโกไนต์ (aragonite) เป็นชั้นที่เรียบ มีความหนาบางแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของหอย ชนิดที่มีชั้นมุกหนา จะเห็นเป็นสีมุก และมีความแวววาวสวยงาม เมื่อหอยตาย เปลือกจะถูกคลื่นซัดขึ้นมาติดอยู่ตามชายหาด


ด้านในเปลือกหอยมุก

ด้านในเปลือกหอยมุก


ลักษณะตัว  


     ตัวหอยมีเนื้อนุ่ม ลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้อง ประกอบด้วยหัว ตีน แผ่นเนื้อแมนเทิล และอวัยวะภายใน หอยส่วนใหญ่ที่หัวมีหนวดและตา (ยกเว้นหอยแปดเกล็ดและหอยกาบคู่) ที่ใช้เป็นอวัยวะรับสัมผัส หอยกาบเดี่ยวอาจมีจะงอยปากหรืองวงสำหรับช่วยในการกินอาหาร ตีนเป็นกล้ามเนื้อแข็งแรง ใช้ในการคืบคลานหรือขุดพื้นเพื่อฝังตัว พวกที่เคลื่อนที่ได้จึงมีตีนขนาดใหญ่และแข็งแรง เช่น หอยแปดเกล็ด หอยงาช้าง หอยกาบเดี่ยว หอยกาบคู่ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้น ส่วนพวกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ตีน เนื่องจากอยู่ติดกับที่ ตีนจะมีขนาดเล็กหรือไม่มีเลย เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม สำหรับหอยงวงช้างกระดาษและหอยงวงช้างมุก ตีนเปลี่ยนรูป และอยู่รอบปาก มีลักษณะคล้ายหนวด ทำหน้าที่จับอาหารและช่วยในการพยุงตัว หอยมีแผ่นเนื้อแมนเทิลที่ห่อหุ้มอวัยวะภายในไว้ และขอบของแผ่นเนื้อนี้ทำหน้าที่สร้างเปลือก ระหว่างแผ่นเนื้อกับตีนเป็นช่องที่น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้เรียกว่า ช่องแมนเทิล ซึ่งมีเหงือกอยู่ภายใน


ภาพเขียนลายเส้นแสดงลักษณะตัวหอย


การหายใจ 


    หอยทะเลมีระบบหายใจ ประกอบด้วยเหงือก หัวใจ เส้นเลือด และแอ่งเลือด เหงือกมีจำนวน ๑ - ๒ อัน ประกอบด้วย แกนเหงือก และซี่เหงือก หัวใจแบ่งเป็นหัวใจห้องต้นและหัวใจห้องปลาย เมื่อหัวใจบีบตัวทำให้เลือดไหลไปตามเส้นเลือด และแอ่งเลือด ที่กระจายอยู่ทั่วตัวหอย เลือดของหอยเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ยกเว้นหอยบางชนิดที่มีสารเฮโมโกลบิน (haemoglobin) ในเลือด ทำให้เลือดมีสีแดง ตัวอย่างเช่น หอยแครง


หอยแทะกินสาหร่ายเป็นอาหาร

หอยแทะกินสาหร่ายเป็นอาหาร


อาหารและวิธีการกินอาหาร 


    หอยทะเลกินอาหารแตกต่างกันไป บางชนิดกินอาหารเฉพาะอย่าง บางชนิดกินอาหารได้หลายอย่าง สิ่งที่เป็นอาหาร คือ 

     พืช พืชในทะเล ได้แก่ สาหร่ายทะเล ที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สาหร่ายขนาดเล็กเกาะติดตามก้อนหิน ซากปะการัง ตามใบของหญ้าทะเล หลายชนิดล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ ส่วนสาหร่ายขนาดใหญ่อยู่ตามพื้นท้องทะเล 

      ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย เมื่อพืชและสัตว์ตายลง ซากจะถูกย่อยสลาย จนมีขนาดเล็กลง และเปลี่ยนสภาพเป็นสารอินทรีย์ และอนินทรีย์

     สัตว์ที่ยังมีชีวิต ได้แก่ สัตว์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ลอยตัวอยู่ในมวลน้ำ หรืออาศัยอยู่ตามพื้นทะเล เช่น หนอนทะเล ปะการัง ดาวมงกุฎหนามหรือที่เรียกทั่วไปว่า ดาวหนาม รวมถึงสัตว์ที่ว่ายอยู่ในน้ำ เช่น ปลา 

     จุลชีพ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาจอยู่ตามพื้นท้องทะเล ติดตามวัตถุต่างๆ หรือในมวลน้ำ เช่น จุลินทรีย์   

     หอยทะเลเกือบทั้งหมด (ยกเว้นหอยกาบคู่) มีแผ่นขูด (radula) อยู่ภายในช่องปาก แผ่นขูดมีลักษณะเป็นแถบยาว มีฟัน (radula teeth) ขนาดเล็กเรียงเป็นแถวในแนวขวางจำนวนหลายแถว ทำหน้าที่ช่วยในการกินอาหาร ส่วนหอยที่เป็นนักล่า แผ่นขูดเปลี่ยนรูปเป็นลักษณะคล้ายลูกศร เพื่อใช้เป็นอาวุธในการล่าเหยื่อ หอยกาบเดี่ยวใช้จะงอยปาก งวง และแผ่นขูด ในการกินอาหาร หอยกาบคู่กินอาหารโดยใช้เหงือกกรองอาหารจากมวลน้ำแล้วส่งเข้าสู่ช่องปาก ส่วนหอยงาช้าง หอยงวงช้างมุก  และหอยงวงช้างกระดาษใช้หนวดช่วยในการจับอาหารส่งเข้าปาก อาหารจะผ่านจากช่องปากลงสู่หลอดอาหาร และย่อยในกระเพาะผ่านเข้าสู่ลำไส้ กากอาหารออกทางรูก้น 

การกำจัดของเสีย  

     หอยมีไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากตัว ของเสียส่วนใหญ่ถูกขับออกมาในรูปของกรดแอมิโน กรดยูริก และสารประกอบของแอมโมเนีย


หอยกระต่ายมีหนวดที่ใช้รับสัมผัสขณะเคลื่อนที่

หอยกระต่ายมีหนวดที่ใช้รับสัมผัสขณะเคลื่อนที่


การรับสัมผัสและระบบประสาท  


      โดยทั่วไปหอยทะเลมีหนวดทำหน้าที่รับสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว มีกลุ่มเซลล์รับสัมผัสทางเคมีอยู่บริเวณเหงือก ซึ่งทำหน้าที่รับกลิ่น และตรวจสอบสภาพของน้ำเรียกว่า ออสฟราเดียม (osphradium) มีถุงทรงตัว (statocyst) ที่มักพบอยู่บริเวณตีน ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีตาทำหน้าที่รับสัมผัสความเข้มของแสง มีระบบประสาทที่ประกอบด้วยปมประสาทและเส้นประสาท โดยปมประสาทจะกระจายอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ เช่น หัว ตีน ข้างลำตัว อวัยวะภายในระหว่างปมประสาท มีเส้นประสาทเชื่อมต่อถึงกัน และจากปมประสาทมีเส้นประสาทแตกแขนงสู่อวัยวะต่างๆ 


หอยจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่

หอยจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่


การแพร่พันธุ์และการเจริญเติบโต 


      หอยทะเลแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ มีระบบสืบพันธุ์แบ่งเป็น ๒ แบบคือ แบบแยกเป็นเพศผู้และเพศเมีย และแบบเป็นกะเทย คือ มีระบบสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน ส่วนการปฏิสนธิมี ๒ ลักษณะ คือ การปฏิสนธินอกตัว และการปฏิสนธิในตัว การปฏิสนธินอกตัวนั้น หอยจะไม่มีการจับคู่ผสมพันธุ์ เพศผู้และเพศเมียต่างปล่อยอสุจิและไข่ในน้ำ การปฏิสนธิเกิดในน้ำ เมื่ออสุจิและไข่ มีโอกาสมาอยู่ในที่เดียวกัน ในกรณีนี้อาจมีไข่หอยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการผสม เนื่องจากถูกกระแสน้ำพัดพาไปในบริเวณที่ไม่มีอสุจิ หอยที่มีการปฏิสนธิลักษณะนี้ ได้แก่ หอยแปดเกล็ด หอยกาบเดี่ยวบางชนิด เช่น หอยเป๋าฮื้อ หอยนมสาว หอยกาบคู่เกือบทุกชนิด หอยงาช้าง ส่วนการปฏิสนธิในตัว หอยจะจับคู่กัน จากนั้นเพศผู้ปล่อยน้ำอสุจิเข้าไปในท่อไข่ของเพศเมีย ไข่ได้รับการผสมในท่อไข่ ไข่ส่วนมากจะได้รับการผสม หอยที่เป็นกะเทย ถึงแม้จะสร้างอสุจิและไข่ในตัวเดียวกัน แต่จะสุกไม่พร้อมกัน จึงต้องมีการผสมข้ามตัว ไข่ที่อยู่ในท่อไข่จะค่อยๆ เคลื่อนตัวมาตามท่อ และก่อนที่แม่หอยจะวางไข่ จะมีการสร้างวุ้นหรือปลอกหุ้มไข่ไว้ก่อน จึงวางไข่ ภายในวุ้นและภายในแต่ละปลอกมีไข่จำนวนมาก ไข่มักถูกวางรวมกันเป็นกระจุก โดยอาจติดอยู่ตามสาหร่ายหรือวัตถุที่อยู่ในน้ำ เช่น ก้อนหิน ท่อนไม้ เปลือกหอยเก่า หอยที่มีการปฏิสนธิในตัว ได้แก่ หอยกาบเดี่ยวเกือบทั้งหมด ทากทะเล หอยงวงช้างมุก และหอยงวงช้างกระดาษ 

    การเจริญเติบโตของตัวอ่อนอันเกิดจากการปฏิสนธิต่างแบบมีความแตกต่างกันไป หอยที่มีการปฏิสนธินอกตัวนั้น ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่ มีรูปร่างคล้ายลูกข่าง มีขนเรียงเป็นแถบรอบตัวและไม่มีเปลือก เรียกว่า ตัวอ่อนโทรโคฟอร์ (trochophore) ซึ่งจะลอยตัวอยู่ในทะเล จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยสร้างวีลัม (velum) ที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนบาง มีขนตามขอบ เพื่อใช้ในการช่วยพยุงตัวและว่ายน้ำ พร้อมๆ กับเริ่มสร้างเปลือกคลุมตัวเรียกว่า ตัวอ่อนเวลิเจอร์ (veliger) รูปร่างเปลือกของตัวอ่อนเวลิเจอร์ในหอยแต่ละกลุ่ม มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ตัวอ่อนเวลิเจอร์ของหอยเป๋าฮื้อ มีเปลือกรูปร่างกลม ส่วนหอยนางรมมีเปลือกรูปร่างคล้ายอักษรตัว D ในระยะแรก และเปลี่ยนเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมในระยะต่อมา ตัวอ่อนเวลิเจอร์จะค่อยๆ เปลี่ยนรูปร่างไป โดยวีลัมมีขนาดเล็กลงและค่อยๆ หดหายไป เปลือกมีขนาดใหญ่ขึ้นและหุ้มตัวไว้ทั้งหมด จากนั้นจะค่อยๆ จมตัวลงสู่พื้น โดยอาจคืบคลานอยู่ตามพื้นใต้น้ำ หรือเกาะติดอยู่ตามก้อนหินและวัตถุอื่นๆ ระยะนี้มีลักษณะคล้ายพ่อแม่ จึงเรียกว่า ลูกหอย ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป ส่วนหอยที่มีการปฏิสนธิในตัวนั้น เมื่อไข่ฟักตัวเป็นตัวอ่อน โทรโคฟอร์จะเจริญอยู่ภายในวุ้นหรือปลอกไข่ระยะหนึ่ง จนเมื่อเจริญเป็นตัวอ่อนเวลิเจอร์แล้ว จึงออกจากปลอกไข่ลอยตัวอยู่ในน้ำทะเล แล้วเจริญเติบโตเป็นลูกหอยและตัวเต็มวัย


หอยที่เป็นอาหาร

หอยเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยกว่าสัตว์น้ำจำพวกปลา ปู และกุ้ง มนุษย์กินหอยเป็นอาหารมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล จากอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า หอยทะเลทุกชนิดกินเป็นอาหารได้ อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของรสชาติ อันเนื่องมาจากลักษณะของเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม แข็งกระด้าง เหนียว หรือมีความพอดี โดยทั่วไปหอยที่เติบโตช้า หรือมีอายุมาก เนื้อมักจะมีความเหนียวมากกว่าหอยที่โตเร็ว พฤติกรรมและอาหารที่หอยกิน ก็มีส่วนที่ทำให้รสชาติของหอยแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน การสำรวจชนิดของหอยที่มีวางขายในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ตของศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และตลาดของท้องถิ่นในจังหวัดชายฝั่งทะเล พบประมาณ ๕๕ ชนิด แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นหอยที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ หอยที่มีผลผลิตเป็นจำนวนมาก โดยได้จากการทำฟาร์มเพาะเลี้ยง และจากการทำประมงขนาดกลางและขนาดใหญ่ กลุ่มที่ ๒ เป็นหอยที่ชาวบ้านในท้องถิ่นรวบรวมได้ จากที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และมีปริมาณไม่มากนัก มีการบริโภคกันในระดับท้องถิ่น หอยที่มีรสชาติดีเหมาะสำหรับนำมาเป็นอาหารมักเป็นหอยกาบคู่ เนื่องจากเป็นพวกที่โตเร็ว เนื้อไม่เหนียว และนำเนื้อออกจากเปลือกได้ง่ายกว่าหอยกาบเดี่ยว หอยที่นิยมบริโภคกันโดยทั่วไป ได้แก่


หอยแครง  

ผลผลิตของหอยแครงได้ทั้งจากการเก็บจากแหล่งธรรมชาติ และการทำฟาร์มตามชายทะเล ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม หอยแครงเป็นอาหารทะเล ที่มีผู้นิยมบริโภคทั้งในรูปของหอยสดและแปรรูป โดยหอยสดสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท ส่วนการแปรรูป มักจะนำมาดองน้ำปลา ซึ่งเก็บไว้ได้หลายวัน


เก็บหอยแครงโดยใช้กระดานถีบ

หอยแมลงภู่  

ผลผลิตของหอยแมลงภู่ส่วนใหญ่ได้จากการทำฟาร์ม โดยผู้เลี้ยงจะปักหลักไม้ เช่น ไม้รวก หรืออาจใช้เชือกแขวนทำราว เพื่อให้ลูกหอยเกาะ แหล่งที่เลี้ยงมักเป็นปากแม่น้ำ และบริเวณที่เป็นน้ำกร่อย เช่น ปากแม่น้ำบางปะกง ชายฝั่งจังหวัดชลบุรี โดยการปล่อยหลักไม้ทิ้งไว้ประมาณ ๘ - ๑๒ เดือน หอยก็จะโตได้ขนาดที่ส่งขายได้ ผู้บริโภคนิยมบริโภค ทั้งในรูปของหอยสด ที่นำไปประกอบอาหารได้หลายประเภท หรือนำมาแปรรูป เพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานๆ เช่น นำไปตากเป็นหอยแมลงภู่แห้ง หรือทำเป็นหอยดอง ในสมัยก่อนเชื่อกันว่า เมื่อมีอาการปวดหลังปวดข้อ ให้เอาเนื้อหอยแมลงภู่แห้ง ๒๕ - ๕๐ กรัม ต้มกินเป็นประจำ จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในปัจจุบันที่ได้ผลว่า ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบมีอาการดีขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเสริมสุขภาพ ที่เป็นสารสกัดจากหอยแมลงภู่ในขนาดที่เหมาะสม


การทำฟาร์มหอยแมลงภู่แบบปักหลัก

หอยนางรม  

ผลผลิตของหอยนางรมมีทั้งที่เก็บจากธรรมชาติและการทำฟาร์ม เป็นหอยที่มีการเลี้ยงตามชายฝั่งทะเล และอ่าวที่มีคลื่นลมไม่แรงนัก การทำฟาร์มอาจใช้วิธีปักหลักปูนให้ลูกหอยมาเกาะติด หรือเลี้ยงแบบแขวน โดยนำลูกหอยมาติดกับเส้นเชือก แล้วนำไปแขวนในทะเล แหล่งเลี้ยงหอยนางรม ได้แก่ จังหวัดที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย และภาคใต้ ส่วนหอยนางรมขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า หอยตะโกรม มีเลี้ยงกันมากที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดเป็นอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของจังหวัด หอยนางรมมีเนื้อนิ่มแต่ไม่เปื่อยยุ่ย ส่วนมากนิยมบริโภคสด ซึ่งจำหน่ายในลักษณะหอยมีชีวิตทั้งเปลือก หรือเนื้อหอย (แกะเปลือก) แช่เย็น เนื้อหอยยังนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหอย และซอสปรุงรสที่เป็นสินค้าส่งออกของประเทศ นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูป เช่น หอยนางรมดอง หอยนางรมรมควันแช่น้ำมันบรรจุกระป๋อง




การทำฟาร์มหอยนางรมแบบใช้หลักปูน


หอยลาย  

มีชาวประมงจำนวนไม่น้อยที่ยึดอาชีพทำการประมงหอยลาย ผลผลิตของหอยลายทั้งหมด ได้จากแหล่งธรรมชาติ พบชุกชุมตามชายฝั่งใกล้ปากแม่น้ำ ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย เมื่อพบแหล่งหอยลาย ชาวประมงก็จะทำการประมงกันอย่างหนาแน่น โดยใช้เครื่องมืออวนลาก จนกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เมื่อได้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มทุน ชาวประมงก็จะเสาะหา และย้ายแหล่งไปเรื่อยๆ จนปัจจุบัน มีแหล่งหอยลายเหลืออยู่น้อยมาก การใช้ทรัพยากรหอยลายมีทั้งบริโภคสด และต้มให้สุก ใช้เฉพาะเนื้อหอยบรรจุกระป๋องเป็นสินค้าส่งออก




หอยลาย

หอยเชลล์  

แม้ว่าในทะเลไทยจะมีหอยเชลล์อยู่หลายชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียว ที่มีความสำคัญเชิงพาณิชย์ คือ หอยเชลล์รูปพระจันทร์ (Asian moon scallop) ที่อาศัยในบริเวณที่เป็นพื้นทราย หรือทรายปนโคลนทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและด้านอ่าวไทย มีการทำการประมง โดยใช้เครื่องมืออวนลาก นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าหอยเชลล์ชนิดอื่น จากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่มีการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ในประเทศไทยมีการทดลองเพาะ และเลี้ยงหอยเชลล์ชนิด ซีเนเทอร์ (Senatorial scallop) แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ผลผลิตที่ได้มีจำนวนไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป



หอยเชลล์


หอยเป๋าฮื้อ หรือ หอยโข่งทะเล  

เป็นหอยอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมบริโภค แม้จะมีราคาแพง หอยเป๋าฮื้อเป็นหอยกาบเดี่ยว แต่นำเนื้อออกมาจากเปลือกได้ง่าย เพราะเปลือกมีลักษณะแบน และครอบอยู่ด้านบน ของตัวหอย ด้านล่างเป็นเท้าขนาดใหญ่ที่มีกล้ามเนื้อหนาและแข็งแรง มีความยืดหยุ่นพอเหมาะ เป็นส่วนที่นำมารับประทาน เนื้อหอยเป๋าฮื้อส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ซึ่งทำฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในระดับอุตสาหกรรม โดยนำเข้าในรูปของหอยสดแช่แข็ง หรือรมควันและบรรจุกระป๋อง ในประเทศไทย การเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ยังมีไม่มากนัก ทั้งยังมีต้นทุนสูง จึงยังต้องมีการศึกษาทดลองต่อไป เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ นอกจากจะมีรสชาติดีแล้วชาวญี่ปุ่นยังมีความเชื่อว่า หอยเป๋าฮื้อเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง และอายุยืนยาว เมื่อจะส่งของขวัญไปให้ผู้ใด ก็มักนำเอาเนื้อหอยเป๋าฮื้อชิ้นบางๆ ห่อด้วยกระดาษสีแนบไปด้วย


หอยเปาฮื้อ

เปลือกหอยในวิถีชีวิตของคนไทย

การขุดพบซากเปลือกหอยร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่า มนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับหอยมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนำเนื้อหอยมาเป็นอาหาร เปลือกหอยยังนำมาใช้ในวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง   คือ

เพื่อความเป็นสิริมงคล  

หอยสังข์ที่ได้ชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เป็นหอยสังข์ชนิดที่พบในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณเกาะลังกา และอินเดียตอนใต้ แต่ไม่พบในทะเลไทย เป็นความเชื่อที่ถ่ายทอดมาจากตำนาน ของประเทศอินเดีย ที่ถือว่า หอยสังข์เป็นเครื่องหมายของพระลักษมีเทพีแห่งโภคทรัพย์ หอยสังข์นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ของไทยที่ยึดถือพิธีของศาสนาพราหมณ์เป็นต้นแบบ  โดยนำมาใช้ ๒ กรณีคือ เป็นสังข์เป่า และสังข์รดน้ำ สังข์เป่าใช้ในพระราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชพิธีมงคลต่างๆ อาทิเช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีสถาปนาพระราชวงศ์ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในพระราชพิธีเหล่านี้ ชาวพนักงานจะประโคมสังข์ แตร และกลองชนะ ประกอบในพิธี ส่วนสังข์รดน้ำใช้ในพระราชพิธีและพิธีมงคล เช่น ในพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินี ให้ดำรงราชฐานันดรศักดิ์ เป็นสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งได้มีบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมพระนลาฏสมเด็จพระบรมราชินี ส่วนพิธีมงคลที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน คือ ในพิธีมงคลสมรสที่เชื่อว่า ต้องใช้หอยสังข์หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และความเจริญมั่งคั่ง

เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลัง  

มีหลักฐานจากกรุวัดราชบูรณะพบหอยเบี้ยหุ้มทองคำสำหรับห้อยคอ เชื่อกันว่า หอยเบี้ยเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า ทำให้โรคภัยไข้เจ็บและเสนียดจัญไรหมดไป ถือเป็นของมงคลประจำบ้าน


เปลือกหอยนำมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง

เพื่อเป็นยารักษาโรค  

ในตำราแพทย์แผนไทยมีการนำเปลือกหอยมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงยา โดยกล่าวถึง "พิกัดเนาวหอย" คือ การจำกัดจำนวนหอย ๙ อย่าง ได้แก่ หอยขม หอยนางรม หอยจุ๊บแจง หอยสังข์ หอยแครง หอยกาบ หอยมุก หอยตาวัว หอยพิมพการัง ซึ่งมีสรรพคุณขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว บำรุงกระดูก แก้โรคกระษัย ไตพิการ กัดเมือกมันในลำไส้ ส่วนการนำมาใช้ปรุงยา มีทั้งขนานยาที่ใช้เปลือกหอยทั้ง ๙ อย่าง หรือใช้เพียงบางอย่าง เช่น ตำรับยาชื่อว่า"เนาวหอย" จะใช้เปลือกหอยทั้ง ๙ อย่างเป็นส่วนผสม บางอย่างใช้เปลือกหอยสังข์หนามเพียงอย่างเดียวเป็นส่วนผสม เช่น ยาสังขสมุทัย นอกจากนี้ในตำรับยาหลายขนานยังใช้เปลือกหอยเบี้ย ได้แก่ เบี้ยผู้ เบี้ยจั่น เบี้ยแก้ มาใช้ในการปรุงยาด้วย

เพื่อใช้เป็นเงินตรา  

มนุษย์ใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้ามาแต่สมัยโบราณ ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เงินตราที่ใช้เป็นเงินพดด้วงที่ทำมาจากเงินหรือทอง และเปลือกหอยเบี้ย หอยเบี้ยที่นำมาใช้มี ๒ ชนิด คือ เบี้ยจั่น และเบี้ยนาง ซึ่งพ่อค้าต่างชาตินำเข้ามาขาย เบี้ยเป็นเงินปลีกที่มีมูลค่าต่ำสุดในระบบเงินตรา มีอัตราประมาณ ๑๐๐ เบี้ยต่อ ๑ อัฐ (เท่ากับหนึ่งสตางค์ครึ่ง) ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ ได้เริ่มมีการใช้เหรียญกษาปณ์ ที่ผลิตจากดีบุก และมีตราประทับจากแบบพิมพ์โดยใช้เครื่องจักร เบี้ยจึงหายไปจากระบบเงินตราของไทย ปัจจุบันคำว่า "เบี้ย"
ยังสื่อความหมายถึงเงินด้วย เช่น เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม เบี้ยหวัด เบี้ยกันดาร รวมถึงสำนวนไทยที่ว่า เบี้ยน้อยหอยน้อย  หมายถึง การมีเงินน้อย 

เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องมุก และของใช้อื่นๆ  

ภายในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่จัดเก็บรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี จะเห็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู กำไล ที่ทำจากเปลือกหอยทะเลขนาดใหญ่ หรือนำเปลือกหอยขนาดเล็กมาเจาะรู แล้วร้อยเป็นสร้อย ปัจจุบันก็ยังคงนำเปลือกหอยมาทำเครื่องประดับหลายอย่าง เช่น เข็มกลัด ต่างหู สร้อย เข็มขัด ส่วนการทำเครื่องมุกเป็นการนำเปลือกหอยมุกมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และจัดวางให้เป็นลวดลายสวยงามบนภาชนะ บานประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน ตู้พระธรรม ตั่ง โต๊ะ พาน ตะลุ่ม นอกจากนี้เปลือกหอยยังสามารถนำมาตกแต่งดัดแปลงเป็นของใช้ เช่น โคมไฟ กรอบรูป และของที่ระลึกต่างๆ




ปานประตู วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ประดับตกแต่งลวดลาย ด้วยเปลือกหอยมุก


ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ/เล่มที่ ๓๔/เรื่องที่ ๕ หอยในทะเลไทย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น