งานประเพณีสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเพณีสารทเดือนสิบ
ประเพณีสารทเดือนสิบ
เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช
ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทาง ศาสนาพราหมณ์
โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง
โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ
ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10
เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง
ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ
หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม 1
ค่ำถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปีแต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะ นิยมทำบุญกันมากคือวันแรม 13-15ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายน
ขบวนแห่หฺมฺรับ
เรื่องของ หฺมฺรับ (หมะหรับ)
เมื่อถึงวันแรม
14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า “วันหลองหฺมฺรับ” แต่ละครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ
มาจัดเป็นหฺมฺรับ (หมะหรับ) สำหรับการจัดหฺมฺรับนั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอน
จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ
เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาด หรือกะละมัง มาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร
ตามด้วยหอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ
ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม และผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน ๆ
เช่น ฟักเขียว ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น มัน ลางสาด เงาะ ลองกอง กล้วย อ้อย ข้าวโพด
ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันก๊าด ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย และเครื่ององเชี่ยนหมาก
สุดท้ายก็ใส่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง (
บางท่านบอกว่า 6 อย่าง ) ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายในตัวเอง คือ ขนมพอง
เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา
แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ
แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง
ก็จะมีขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน เข้าไปด้วย 3) การยกหฺมฺรับ ในวันแรม 15 ค่ำ
เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด
โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ
วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือวัดที่ตนศรัทธา
การยกหมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่
ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุกสนานรื่นเริงด้วย
วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวดหฺมฺรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น
ได้จัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบทุก ๆปี
โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด
ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น
การชิงเปรต
การชิงเปรต
การชิงเปรตเสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้วก็นิยมนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด โคนไม้ใหญ่ หรือ กำแพงวัด เรียกว่า ตั้งเปรตเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้เป็นสาธารณะทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญให้ บางวัดนิยมสร้างร้านขึ้นเพื่อสะดวกแก่ตั้งเปรตเสร็จแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า “ชิงเปรต” ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก เพราะความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ภาพโดยรวม
งานเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ คือการที่ลูกหลานชาวนครศรีธรรมราช
เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อร่วมทำบุญครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น